5 ภาษี ที่ผู้ประกอบการต้องรู้

5 ภาษี ที่ผู้ประกอบการต้องรู้

เมื่อเปิดบริษัทแล้ว “ภาษี” คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเจอเมื่อทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้วางแผนรับมือได้อย่างถูกต้อง มีภาษีอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการต้องรู้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อจัดตั้งบริษัทและเปิดบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว  บริษัทจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หลักการคำนวณภาษีโดยจะใช้สูตร

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Value Added Tax (VAT)  เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิต ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7%

1. กิจการมีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการรายรับเกิน

2. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ที่มีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการดำเนินการ และเตรียมการประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้า หรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร

3. ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการเปิดบริษัท

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้ากำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย ซึ่งการหักภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หลังจากนั้นให้นำเงินส่งกรมสรรพากร และนำส่งสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน

อัตราการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย

– ค่าขนส่ง 1%

– ค่าโฆษณา 2%

– จ้างรับเหมา หรือบริการต่าง ๆ 3%

– ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5%

– จ้างทำงานหรือบริการ สำหรับยอดที่ไม่เกิน 1,000 บาท ไม่หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

1.   การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ

2.   การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์

3.   การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

4.   การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

5.   การประกอบกิจการโดยคล้ายธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋ว

6.   การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

อากรแสตมป์

จัดเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่ง โดยเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ ซึ่งจัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและใช้ร่วมกับเอกสารแสดงสิทธิ์ต่างๆ อาทิ สัญญาจ้าง กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน เช่าที่ดิน สัญญาร่วมลงทุน โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ เนื่องจากสัญญาที่เป็นปากเปล่าไม่มีหนังสือหรือเสียภาษีอากรแสตมป์นั้นไร้ผลทางกฎหมาย ไม่สามารถเป็นพยานในคดีแพ่งได้

*อากรแสตมป์นี้ไม่ใช่ดวงตราไปรษณียากรที่ใช้ปิดซองจดหมายทั่วไป สามารถหาซื้ออากรแสตมป์ได้ที่กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น